วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สิทธิมนุษย์




สิทธิมนุษย์

 
  เมื่อไม่นานมานี้ผมได้เขียนบทความหนึ่งชื่อว่า “บทเรียนกรณี 'อากง' กับปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย” เป็นการบอกเล่าข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบทความดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยและที่สำคัญคือประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

          ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในแง่มุมทาง ‘กฎหมาย’ และ ‘การเมือง’ อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่ม ‘นิติราษฎร์’ ซึ่งนำโดย อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะรวม 7 คน ออกมาประกาศเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ในเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งต่อมาไม่นานก็เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้าน

          ต่อมาในปลายปีเดียวกันนั้นเอง นิติราษฎร์ก็ได้จัดงานครบรอบ ‘5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.49’ พร้อมทั้งได้ประกาศข้อเสนอ 4 ประการเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม ได้แก่

  • ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
  • แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  • กระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายหลังรัฐประหาร
  • ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

          จะเห็นได้ว่า ‘มาตรา 112’ ก็เป็นปัญหาสำคัญที่นิติราษฎร์เห็นว่าควร ‘แก้ไข’ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการต่อต้าน ‘รัฐประหาร’ การต่อต้าน ‘รัฐธรรมนูญเผด็จการ’ และการเยียวยา ‘ผู้ได้รับความเสียหาย’ จากเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้นิติราษฎร์ได้รับทั้ง ‘ดอกไม้’ และ ‘ก้อนหิน’ ในเวลาเดียวกัน จนท้ายที่สุดต้องส่งไม้ต่อให้คณะรณรงค์แก้ไข ม.112 หรือ ‘ครก.112’ ในเวลาต่อมา
          ตัวกฎหมาย ‘มาตรา 112’ นี้ผมจะไม่กล่าวถึงมากนัก เพราะได้อธิบายไปพอสมควรแล้วในบทความที่ผ่านมา[1] แต่จะขอเสนอความเห็นของทั้งฝ่ายที่ ‘เห็นด้วย’ และ ‘ไม่เห็นด้วย’ ในการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงท่าทีของนานาชาติต่อกรณีดังกล่าว เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้พินิจพิจารณาว่าเหตุใดเราจึง ‘ควรแก้’ หรือ ‘ไม่ควรแก้’ กฎหมายมาตรานี้

ฝ่ายฝ่ายที่เห็นด้วย
          "เชื่อว่า ท่านเองคงอึดอัด ถึงได้ปรารภออกมาเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 และบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงไป เป็นทั้งอาญาและลงโทษ 10-20 ปี ซึ่งเมื่อถึงท่านแล้ว ก็จะอภัยโทษ แต่ความเดือนร้อนมาถึงท่าน คงแก้ไม่ได้แล้ว และยิ่งเป็นกฎหมายท่านไปพัวพันไม่ได้ ไม่อยู่ฐานะจะพูดว่าจะแก้อะไร แต่อาจจะทำได้เพียงปรารถ หรือทำได้ตามพระราชอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ คือปรึกษา กรณีรัฐบาลถาม ให้กำลังใจ และเตือนสติ เท่านั้น ส่วนจะทำหรือไม่ทำ ท่านบังคับไม่ได้"[2] อานันท์ ปัญยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
          “กฎหมายมาตรานี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ เพราะมีปัญหาทั้งการตีความกฎหมาย การร้องทุกข์กล่าวโทษ และอัตราโทษที่รุนแรงเกินไป ...วิธีการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดคือการยึดหลักทางสายกลางและความโปร่งใส”[3] สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม
          “เท่าที่ค้นคว้า ไม่มีประเทศไหนรุนแรงเท่าเรา เมื่อเร็วๆนี้ผมก็ค้นเจอและอ้างอิงไปยังข้อเสนอว่าที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาปรับแค่400-600ยูโร และดูความร้ายแรงว่าจะสมควรลงโทษหรือไม่ คือไม่ใช่แค่ว่าคุณทำผิด ผมทำผิด ทำอย่างเดียวกันแล้วโทษจะเท่ากันนะ แต่ดูว่าคุณทำผิดนั้นมีอะไรที่เป็นแรงจูงใจคุณ มีอะไรเป็นแรงผลักดัน หลักในการลงโทษคือให้เหมาะสมกับแต่ละคน ลองไปถามนักนิติศาสตร์ดูว่าโทษระยะสั้นสมควรใช้หรือไม่ ทุกคนตอบว่าไม่ควร แต่ทำไมถึงตัดสินจำคุกคุณจินตนา4เดือน อย่างในเยอรมันถ้าโทษต่ำกว่า4เดือนนี่ไม่ใช้เลย ถ้าจะใช้ก็ต่อเมื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย อย่าลืมว่าคนเราบางทีมันก็ทำอะไรเกินเลยไป แต่มันไม่ได้ทำเพราะความชั่วร้าย”[4] ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป.  
          “ในปัจจุบันนี้เราต้องคิดให้หนัก และไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นปรปักษ์ กับระบอบประชาธิปไตย  ถือเป็นการทำร้ายสถาบันกษัตริย์โดยตรง ขณะที่สัดส่วนการลงโทษจำคุก 3 ปีเป็นอย่างต่ำ และสูงสุด 15 ปีนั้นต่อ 1 กระทงความผิด นั้นแรงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการนำมาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้จำเป็นต้องวินิจฉัยความผิดของคนกระทำผิดให้อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐด้วย  ดังนั้นส่วนนี้จึงเป็นปัญหาค่อนข้างมาก”[5] นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย 
           “ผมไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะการจะแก้ไขกฎหมายใด ควรคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม ศีลธรรม วัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยเกิดความสับสนระหว่างความบกพร่องของกฎหมายและความบกพร่องของการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับมาตรา 112 เช่นเดียวกันที่ไม่ได้มีความบกพร่องจากตัวกฎหมาย แต่เป็นเพราะระบบยุติธรรมที่มีฐานะเป็นผู้นำกฎหมายมาบังคับใช้มากกว่า” ถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 
          “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เห็นว่าไม่ควรแก้ เพราะปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้ การจะแก้ตัวบทโดยไม่แก้การปรับใช้ไม่ได้ สำหรับตัวเองเห็นด้วยกับข้อเสนอบางข้อของคณะนิติราษฎร์บางประเด็นอย่างเรื่องการลดโทษ และให้มีคนกรองหรือมีผู้ฟ้อง อาจะเป็นสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง หรือกระทรวงยุติธรรมก็ได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการแยกความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ออกจากความผิดต่อพระราชินีและรัชทายาทออกจากกัน เพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.
          “แล้วมาคิดทำไมเรื่องมาตรา 112 ผมไม่เห็นด้วย ผมชัดเจนมาตลอด ไปเปลี่ยนแปลงทำไม ก็ดีอยู่แล้ว พวกไม่มีงานทำหรอ ”ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
          “กฎหมายอาญามีตั้งกี่ร้อย กี่พันมาตรา ทำไมจำเพาะเจาะจงถึงต้องแก้อันนี้ กฎหมายคือกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำผิด เขาก็อยู่ในกระดาษเท่านั้นเอง ก็อย่าทำผิดก็เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอะไรต่าง ๆ เราต้องแก้ด้วยหรือ หากเราไม่ไปฆ่าใคร ก็คงไม่มีใครมาจับไปขังเข้าคุก แต่ตราบใดที่เราทำผิดกฎหมายนั้นถึงออกมาใช้ได้ ซึ่งเหมือนกันหมดเมื่อ 2-3 วัน ที่ผ่านมา เพื่อนมาเล่าให้ฟังมีคนแต่งโคลงกลอนล้อประธานาธิปดี ถูกติดเข้าคุกเลย ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเป็นมาตราอะไร ของฝรั่งเขา ตนไม่ได้สนใจอะไรหรอก แต่เขาก็โดนลงโทษ ที่ไหนในโลกนี้เขาก็มีกันทั้งนั้น”  ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
          “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เป็นบทบัญญัติ  ที่ปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ เฉกเช่นเดียวกับประมุขของรัฐต่างประเทศ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๓ แห่งกฎหมายนี้ และเป็นหลักสากลที่นานาอารยประเทศให้การปกป้องประมุขของประเทศในหลักการเดียวกัน”คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

ปฏิกิริยาของนานาชาติ 
          “สถานะของไทยขณะนี้เสื่อมถอยไปมาก ในสายตานานาชาติ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากอัตราโทษที่รุนแรง และจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนมากมาจากคดีหมิ่นสถาบัน เป็นเรื่องที่ชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้ อาทิ กรณีคดีอากง บทลงโทษรุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด เมื่อเทียบกันแล้วไม่สมเหตุสมผลผมมองว่ารัฐบาลและศาลยุติธรรมควรปฎิรูปกฎหมาย เพื่อลดอัตราการลงโทษในคดีหมิ่นสถาบัน เพราะที่ผ่านมาการตัดสินในคดีหมิ่นสถาบันมีการดึงเอาเหตุทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการตัดสินของศาลต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ อดีตไทยเคยมีเสรีภาพทางสื่อออนไลน์มากที่สุด แต่ระยะหลังมีการปิดกั้น ซึ่งกติการะหว่างประเทศกำหนดให้สังคมประชาธิปไตย ควรมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้น้อยที่สุด แต่ไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม" นายแบรด อดัมส์ ประธานองค์การสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก(ฮิวแมนไรทส์วอทช์)
          “กฏหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ประกอบกับบทลงโทษที่สูงเกินความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิด้านเสรีภาพการแสดงออก ยังระบุว่า เขายินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ โดย “มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลไทย และคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำการปฏิรูปกฎหมายไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล” แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพด้านการแสดงออก
          "การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปในทางที่ผิดในทางการเมืองนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับสภาวะเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย การใช้อำนาจตรวจสอบ การเซ็นเซอร์ตัวเอง และข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรุนแรง" ดร. เควิน ฮิววิสัน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย นอร์ทแคโรไลนา
          “การเสียชีวิตของนายอำพลเป็นเครื่องเตือนใจแก่ทางการไทย ถึงผลกระทบที่น่าเศร้าและโหดร้ายของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงการปฏิเสธการให้ประกันอย่างเป็นระบบ ...รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจแก่การเรียกร้องที่มากขึ้นของประชาชนไทยและประชาคมนานาชาติ เพื่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หรือยกเลิกไป”Souhayr Belhassen ประธานองค์กร FIDH

แนวคิดพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตย
การที่เราจะเป็นบุคคลในสังคมประชาธิปไตยยังต้องรู้หลักการเป็นพลเมืองที่ดี ในสังคมประชาธิปไตย การอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย สมาชิกทุกคนจะต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัวชุมชน สังคมและประเทศชาติ รู้จัก  การทำงานร่วมกันมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในกิจกรรมทางสังคม ดูแลรักษาสาธารณประโยชน์ สิ่งแวดล้อมของชุมชนและประเทศชาติ นำหลักคุณธรรมมาใช้  ในกระบวนการทางประชาธิปไตย  ซึ่งถ้าทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและปฏิบัติตน เป็นพลเมืองที่ดีทั้งต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติแล้ว ย่อมเป็นสิ่งจรรโลงให้การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีความมั่นคงยืนนานตลอดไปและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่าง  มีความสงบสุข ซึ่งมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.            ต้องเป็นบุคคลที่เคารพกฎหมายและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม
2.            เป็นบุคคลที่เคารพในสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น
3.            เป็นบุคคลที่มีเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น
4.            เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรม
5.            เป็นบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
แนวทางปฏิบัติตนเป็นคนดี
1.            ความมีเหตุผล
2.            การตกลงกันอย่างสันติวิธี ประนีประนอมและอดกลั้น
3.            การเคารพซึ่งกันและกัน
4.            ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
5.            การปฏิบัติตนตามกติกาของกลุ่มทั้งในระดับกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่
6.            การวางแผนการปฏิบัติงานและการติดตามงานอย่างเป็นระบบ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น