วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความยุติธรรม



ความยุติธรรม

ความขัดแย้งแบ่งสีในสังคมไทยปะทุขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 บานปลายสืบเนื่องนานหลายปีโดยยังไม่มีวี่แววว่าจะสร่างซา ประเทศไทยเดินดุจเรือไร้หางเสือผ่านรัฐประหาร รัฐบาลนอมินี รัฐบาลอำมาตย์ พลิกกลับมาเป็นรัฐบาลโคลนนิ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2554 ความยุติธรรมในสังคมยังดูเป็นอุดมคติอันไกลโพ้น ขณะที่ความอยุติธรรมชัดแจ้ง ฝากรอยแผลทางกายและในใจคนอย่างท่วมท้นขึ้นเรื่อยๆ จนคำกล่าวที่ว่า “คุกไทยมีไว้ขังคนจน” ดูจะเป็นสัจธรรมอันยากสั่นคลอน
อย่างไรก็ดี คุณูปการประการหนึ่งของความอึมครึมและแตกแยกในสังคม คือ คำว่า “ความยุติธรรม” ถูกพูดถึงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแทบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้นำประเทศจนถึงคนเดินดิน แม่ค้าถกเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” กับลูกค้าระหว่างตักข้าวแกงใส่จาน คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ใส่เสื้อสีที่ “ตื่นตัวทางการเมืองอย่างฉับพลัน” ตามวาทะของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ถกเถียงเรื่องความยุติธรรมทางสังคมอย่างหน้าดำครํ่าเครียด และบางทีก็ถึงขั้นลงไม้ลงมือ
แต่ไม่ว่าเราจะถกเรื่องความยุติธรรมกันมากเพียงใด สิ่งที่ยังพบเห็นน้อยมากในทัศนะของผู้แปลคือ การถกเถียงอย่างรอบด้าน เคารพซึ่งกันและกัน และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อันล้วนเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการเดินสู่ “ความยุติธรรม” ที่แท้จริง
การถกเถียงเรื่องความยุติธรรม ตั้งแต่เรื่องระดับชาติจนถึงเรื่องในครอบครัว ยังดูจะมุ่งไปที่การชักโวหารเหตุผลจากแม่นํ้าทั้งห้ามาสาธยายว่าทำไม “ฉันถูก แกผิด” และ “ความยุติธรรม” ก็มักถูกใช้ในความหมายว่า อะไรก็ตามที่ทำให้ฉันหรือพวกของฉันได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นได้รับผลกระทบอย่างไร กระทั่งไม่อยากฟังเพราะปักใจเชื่อไปแล้วว่าคนอื่นไม่ควรค่าแก่การรับฟัง เพราะเป็นสลิ่ม / เป็นควายที่ถูกซื้อ / เป็นชนชั้นกลางดัดจริต / เป็นพวกล้มเจ้า ฯลฯ
การเที่ยวแขวน “ป้าย” ง่ายๆ เหล่านี้ให้กับผู้คิดต่าง ทำให้คนจำนวนมากไม่ถกกันอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมา หมกมุ่นกับการใช้วาทศิลป์สร้างวาทกรรมด้านเดียวมาสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมือง อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง ประชานิยม ทุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ทั้งที่ในโลกแห่งความจริง สิ่งที่คำเหล่านี้อธิบาย ไม่ได้มีแต่ด้านบวกหรือด้านลบเพียงด้านเดียว และคำหลายคำที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นอาวุธทางความคิดนั้น แท้จริงสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขินเพื่ออธิบายความจริง เช่น กลุ่มการเงินชุมชนหลายกลุ่มใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเหลือ
ชาวบ้านที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้สำเร็จ เสร็จแล้วก็นำเงินกู้ในนโยบาย “ประชานิยม” อย่างเช่นกองทุนเอสเอ็มแอล มาช่วยให้พวกเขาได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่
ความยุติธรรมจะบังเกิดได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน
เราจะเข้าใจกันได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่ให้ความยุติธรรมแม้กับถ้อยคำ ล่ามโซ่ตีกรอบความหมายของมันอย่างคับแคบด้วยวาทกรรมที่ใช้ฟาดฟันทางการเมือง แบ่งโลกออกเป็นขาว – ดำ ทั้งที่โลกจริงหลากหลายกว่านั้น ซับซ้อนกว่านั้น และมีความหวังมากกว่านั้น
ในห้วงยามที่สังคมเป็นเช่นนี้ ผู้แปลคิดว่าหนังสือ “ความยุติธรรม” มาถูกที่ถูกเวลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้เขียน – ไมเคิล แซนเดล - เป็นนักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในโลกวิชาการ ยิ่งกว่านั้นคือ อาจารย์เป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีความสุขกับการใช้ปรัชญาทางการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นแว่นขยายส่องประเด็นสาธารณะต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน โบนัสมหาศาลของผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน การอุ้มบุญ การุณยฆาต สิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ
ผู้แปลโชคดีที่เคยนั่งเรียนวิชา “ความยุติธรรม” กับอาจารย์ วิชานี้เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดติดต่อกันนานกว่าสองทศวรรษ มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคเรียน มากจนต้องไปเรียนกันในโรงละครแซนเดอร์ส ซึ่งจุคนได้มากที่สุดในมหาวิทยาลัย
สิ่งที่ทำให้ผู้แปลทึ่งที่สุดไม่ใช่ความรอบรู้ของอาจารย์แซนเดล หากแต่เป็นความเอื้ออาทร อ่อนโยน และเคารพอย่างจริงใจในความคิดเห็น
ของนักศึกษาทุกคน กระทั่งกับคนที่ดันทุรัง – ดื้อดึง – ด่าทอเพื่อนร่วมห้อง หรือพูดจาถากถางอาจารย์ด้วยความเชื่อมั่นเกินขีดความสามารถของตัวเอง อาจารย์แซนเดลก็จะรับฟังอย่างตั้งใจ ใจเย็น และใจกว้าง ชี้ชวนให้ผู้คิดต่างเสนอความเห็นและถกเถียงกันในชั้นเรียน โดยสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองให้น้อยที่สุด
อาจฟังดูเหลือเชื่อว่า ในชั้นเรียนซึ่งมีนักเรียนยัดทะนานนับพัน ล้นห้องจนบางคาบนักศึกษานับร้อยต้องนั่งพื้นตรงทางเดิน อาจารย์กลับสามารถถามคำถามและดำเนินบทสนทนาระหว่างนักเรียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและท้าทายความคิด (“เอ้า หนุ่มน้อยเสื้อหนาวสีขาวใส่แว่น ชั้นสามจากบนสุดคิดอย่างไรครับ”)
แต่อาจารย์แซนเดลทำได้ หนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาและการโต้วาทีในชั้นเรียน ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน และระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ราวกับยกวิชาในตำนวนวิชานี้ทั้งวิชามาอยู่บนหน้ากระดาษ
นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาการเมืองในโลกตะวันตกแล้ว แซนเดลพยายามจะบอกเราว่า ความยุติธรรมนั้นถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องของการ “ให้คุณค่า” กับสิ่งต่างๆ และด้วยเหตุนี้ ทั้ง “เหตุผล” และ “ศีลธรรม” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังเนื้อความตอนหนึ่งว่า
“การขอให้พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยทิ้งความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาไว้เบื้องหลังเมื่อพวกเขาเดินเข้าสู่วงอภิปรายสาธารณะนั้น อาจดูเป็นวิธีสร้างหลักประกันว่าคนจะอดทนอดกลั้นและเคารพซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจตรงกันข้าม การตัดสินคำถามสำคัญๆ ใประเด็นสาธารณะขณะแสร้งทำตัวเป็นกลาง ทั้งที่เป็นกลางจริงๆ ไม่ได้นั้น คือสูตรสร้างปฏิกิริยาโต้กลับและความไม่พอใจ การเมืองกลวงเปล่าอันสิ้นไร้การโต้เถียงทางศีลธรรมอย่างหนักแน่นทำให้ชีวิตพลเมืองของเราแร้นแค้น นอกจากนี้มันยังเชื้อเชิญลัทธิคลั่งศีลธรรมอันคับแคบและไม่อดทนอดกลั้น นักรากฐานนิยมวิ่งเข้าสู่พื้นที่ซึ่งนักเสรีนิยมไม่กล้าย่างเท้าเข้าไป”
ผู้แปลคิดว่าหนังสือเล่มนี้ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่า เหตุใด “การใช้เหตุผลทางศีลธรรม” จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ควรทำ หากแต่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ผู้แปลหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ในการส่งเสริม ขยับขยาย และยกระดับการถกเถียงประเด็นสาธารณะในสังคมไทยให้พ้นไปจากมุมมองอันคับแคบ ไม่ว่าจะเป็นแบบเข้าข้างตัวเอง แบบยึดติดกับตัวบทกฎหมาย หรือแบบ “ลัทธิคลั่งศีลธรรม” ก็ตามที
หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของปัญญาปฏิบัติ เป็นการใช้เหตุผลสาธารณะ เพื่อถกมิติทางศีลธรรมในประเด็นสาธารณะ เพื่อชีวิตและประโยชน์สาธารณะ
เป็นหนังสือที่ทุก ‘นัก’ ไม่ควรพลาดด้่วยประการทั้งปวง
นอกจากนี้ ผู้แปลยังหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นคุณูปการของการ “ฟัง” อย่างเปิดใจและอ่อนโยน ดังที่อาจารย์แซนเดลทำอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา
เพราะการฟังอย่างตั้งใจนั้น นอกจากจะยากกว่าการพูดหลายเท่าตัวแล้ว ยังจำเป็นต่อการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริง หรืออย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความอยุติธรรมที่ตอกตรึงความรู้สึก “น้อยเนื้อตํ่าใจทางการเมือง” ตามวาทะของคุณโตมร ศุขปรีชา
ผู้เขียนขอขอบคุณ ปกป้อง จันวิทย์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พลอยแสง เอกญาติ แอลสิทธิ์ เวอร์การา กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล และ
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผองเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส สำหรับกำลังใจและมิตรภาพที่มอบให้เสมอมา ขอขอบคุณ กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ บรรณาธิการเล่ม ที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องและขัดเกลาสำนวนภาษาของผู้แปลอย่างพิถีพิถัน เหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณอาจารย์ ไมเคิล แซนเดล ผู้ฉายไฟให้เห็นความสำคัญของปรัชญาในชีวิตจริง ความสนุกสนานของการถกประเด็นสาธารณะ และความงดงามของการครุ่นคิดถึง “ชีวิตที่ดี” อย่างยากจะลืมเลือน
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน
ในยุคปัจจุบันที่สังคมโลกต่างให้ความสำคัญกับกระแสสิทธิมนุษยชนและกระแสประชาธิปไตย คนทุกคนมีสิทธิได้รับความเป็นธรรมในสิทธิที่ตนเองควรจะได้รับ ตั้งแต่แรกเกิดคือสิทธิที่จะต้องอยู่รอด สิทธิในการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และสิทธิที่จะได้รับการศึกษาและฝึกอบรมที่สอดคล้องกับสภาพวิวัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 
ที่ความรู้คืออำนาจ การเรียนรู้จึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อคนทุกคนอย่างทวีคูณ ผู้ที่เข้าถึงความรู้ได้มากกว่าจึงได้เปรียบคนที่เข้าถึงความรู้ได้น้อยกว่า ผู้คนทั่วโลกมีความต้องการการศึกษามากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการประชุมการศึกษาโลกที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล เมื่อ พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษา โดยมีการเสนอจุดหมายหรือหลักชัย (Goals) 6 ข้อ ซึ่งจุดหมายทั้งสามข้อใน 
ข้อนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่าประเด็นในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากก่อนที่เราจะทำให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการเสมอภาคทางการศึกษานั้น การมีความเข้าใจแนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาที่ตรงกันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ในบทความนี้ผมขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อเป็นฐานในการสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการศึกษาทั้งในภาพรวมระดับประเทศ และระดับสถานศึกษาความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่อะไร 
ประการแรก ไม่ใช่การใช้วิธีปฏิบัติที่เหมือนกัน  โดยธรรมชาติแล้วคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในเรื่องถิ่นกำเนิด   เชื้อชาติ ภาษาเพศ อายุ สภาพร่างกาย สถานะบุคคล ฯลฯ การปฏิบัติเหมือน ๆ กัน การปฏิบัติแบบเดียวกันกับคนทุก ๆ คน อาจยิ่งทำให้เกิดความแตกต่าง เกิดช่องว่าง หรือความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น เช่น ในทางการศึกษา การให้การศึกษาอบรมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีร่างกายพิการย่อมต้องแตกต่างกัน ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 10 วรรค และ ที่กำหนดว่า "การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษการศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสองให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง..."เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพสมควรได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาเป็นพิเศษ โดยที่รัฐหรือสถานศึกษาควรบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ด้วยความเอาใจใส่เด็กกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เช่น จัดหาครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่เหมาะสม คือมีความรู้ความเข้าใจในการให้การศึกษาอบรม หรือ

พัฒนาเด็กกลุ่มนี้อย่างแท้จริง จัดหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และการประเมินผล ที่มีความเฉพาะเจาะจง เป็นต้น เพราะหากรัฐหรือสถานศึกษาจัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้เหมือน ๆ กับเด็กปกติทั่วไปทุกประการแล้ว คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดทั้งต่อเด็กกลุ่มนี้  และสังคมส่วนรวมสำหรับเด็กกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษก็เช่นกัน รัฐควรจะให้การศึกษาอบรมอย่างเหมาะสมกับความสามารถในด้านต่าง ๆ ของเขาดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 10 วรรค ที่กำหนดว่า "การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น" ทั้งนี้เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการได้รับการศึกษาที่ส่งเสริมความสามารถพิเศษของเขาให้โดดเด่นยิ่งขึ้น มีความต้องการที่แตกต่างจากเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เช่น เขาต้องการการเรียนการสอนที่ท้าทายต่อศักยภาพและความสามารถของเขา เขาสามารถเรียนรู้โดยไม่ต้องใช้เวลานานเท่ากับเด็กปกติ โดยเฉพาะเรื่องที่เขามีความสามารถเป็นพิเศษ เพราะหากได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับเด็กปกติแล้วอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่น้อยกว่าศักยภาพที่ตนเองมี นอกจากนี้ยังเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้กลายเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศต่อไปอีกด้วย ดังนั้นความเสมอภาคทางการศึกษาที่แท้จริงจึงไม่ใช่การปฏิบัติ หรือการจัดการศึกษาที่เหมือนกันให้กับคนทุกคนประการที่สอง ไม่ใช่การให้ทุกคนไปสู่จุดหมายเดียวกัน ความเสมอภาคไม่ใช่การให้แก่ทุกคนจนกระทั่งในที่สุดแล้วคนทุกคนไปสู่จุด ๆเดียวกัน เช่น มีคนอยู่ คน คนแรกมีเงิน 200 บาท คนที่สองมีเงิน 500บาท ความเสมอภาคไม่ใช่การที่เราต้องเอาเงินให้คนแรก800 บาท และเอาเงินให้กับคนที่สอง 500 บาท เพื่อทำให้ทั้งสองคนนั้นมีเงินคนละ 1,000 บาท เท่ากัน เพราะการทำเช่นนั้นอาจไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับคนที่สอง อาจเปรียบเทียบได้กับหลายเหตุการณ์ในสังคมที่ไม่ได้แสดงความไม่เสมอภาค ตัวอย่างเช่น การที่เราเห็นคนจน กับคนรวยในสังคมแล้วสรุปว่า ไม่มีความเสมอภาคกันในสังคมนั้นอาจเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะในความเป็นจริงแล้วการที่คนหนึ่งรวยกว่าอีกคนหนึ่งนั้นอาจมาจากความขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้ เพียรพยายามในการสร้างฐานะ ในขณะที่คนที่จนนั้นอาจมาจากความไม่สนใจใฝ่หาความรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ เกียจคร้านในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็เป็นได้ หรือการที่เราเห็นครอบครัวหนึ่งมีลูก คน ลูกคนแรกเป็นแพทย์ แต่อีกคนหนึ่งเป็นเพียงคนส่งหนังสือพิมพ์ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดขึ้นเนื่องจากเพราะพ่อแม่ไม่ได้ให้ความเสมอภาคกับลูกของตน เพราะในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่มีความตั้งใจอยากเห็นลูกทั้งสองมีหน้าที่การงานที่ดี ส่งเสียให้เรียนอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากลูกคนที่สองไม่เอาใจใส่การศึกษาเล่าเรียน ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นต้นในทางการศึกษาก็เช่นเดียวกันเราไม่สามารถจัดการศึกษา หรือบังคับให้คนทุกคนสอบได้ที่ หรือจบปริญญาเอกเหมือนกันหมดทุกคนได้ เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความสามารถ ตลอดจนพฤติกรรมหรือการกระทำของแต่ละคน แท้ที่จริงแล้ว ความแตก
ต่างระหว่างบุคคลเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมในการพัฒนาระบบต่าง ๆ ทุกระบบ หากเรารู้จักนำความแตกต่างมาใช้ในทางที่ถูกต้องความเสมอภาคทางการศึกษาจึงไม่ใช่การที่รัฐ หรือสถานศึกษาจัดการศึกษาให้กับทุกคน ทุกกลุ่ม จนในที่สุดแล้วทุกคนไปถึงจุดเดียวกัน และในสภาพความเป็นจริงนั้นย่อมไม่สามารถทำได้ และอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากพยายามจะทำเช่นนั้น เช่น ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ไม่เกิดความเพียรพยายามเพราะคิดว่าในที่สุดแล้วรัฐก็จะเพิ่มเติมให้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในที่สุด ส่วนผู้ที่เพียรพยายามอยู่แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าไม่จำเป็นจะต้องเพียรพยายามต่อไปอีก ส่งผลให้สังคมจะมีความอ่อนแอในที่สุดความเสมอภาคทางการศึกษาคือการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน
ความเสมอภาคทางการศึกษาคือการให้สิทธิและโอกาสในการรับการศึกษาแก่ทุกกลุ่มคนในสังคม โดยไม่ขึ้นกับความแตกต่างกันในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายสถานะบุคคลทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 10 ได้กำหนดว่า "การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย"ในปี 2542 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจเรื่อง "ความต้องการการเรียนต่อของเด็กและเยาวชน" การสำรวจข้อมูลทางสังคมพ.ศ. 2542 โดยสำรวจจากเด็กและเยาวชนอายุ 13-24 ปี จำนวน 13.7ล้านคน พบว่าผู้กำลังเล่าเรียน 6.6 ล้านคน ส่วนอีก 7.1ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 52 ออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว สาเหตุหลักพบว่า ร้อยละ 74 ไม่มีทุนทรัพย์เรียน ต้องการเลี้ยงตนเอง/ครอบครัว ส่วนอีกร้อยละ 10 ไม่สนใจและเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเรียน อย่างไรก็ตามเด็กที่พลาดโอกาสทางการศึกษาประมาณร้อยละ 28 ยังมีความต้องการเรียนต่อ และร้อยละ 37 ต้องการฝึกอบรมวิชาชีพ   ดังนั้นการจัดการศึกษาต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มในสังคม เข้าถึงการศึกษาอบรมได้อย่างทั่วถึงจะรู้ได้อย่างไรว่าเสมอภาคทางการศึกษา 
จากที่กล่าวข้างต้น ความเสมอภาคไม่ได้หมายถึง การใช้วิธีปฏิบัติที่เหมือนกันกับทุก ๆ คน หรือการที่ทำให้คนทุกคนไปสู่จุดหมายเดียวกัน ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าสภาพหรือเหตุการณ์หนึ่ง ๆ นั้นเป็นการปฏิบัติที่เสมอภาคหรือไม่การที่เราจะตัดสินว่าเกิดความเสมอภาคทางการศึกษาหรือไม่นั้น หลักการหนึ่งที่สามารถใช้ประกอบการพิจารณาได้ คือ การพิจารณาว่า "การปฏิบัตินั้น ๆ ได้เปิดโอกาสให้ผลลัพธ์ที่แต่ละคนได้รับกับสิ่งที่แต่ละคนทำเป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่" หมายความว่าหากมีการเปิดโอกาสในด้านต่าง ๆ ทางการศึกษาอย่างทั่วถึงแก่บุคคลทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว การที่ทุกคนจะไปถึงจุดมุ่งหมาย หรือถึงซึ่งความสำเร็จทางการศึกษานั้นย่อมขึ้นอยู่กับผลการกระทำของเขาเองด้วย เช่น รัฐได้เปิดโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้กับคนทุกคนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่คนจะเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเพียรพยายาม ความตั้งใจ
ของผู้เรียนแต่ละคนด้วย เช่น การเอาใจใส่การเรียน ความประพฤติในโรงเรียน และคุณสมบัติอีกหลายประการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการเรียน ดังนั้นในกรณีที่รัฐเปิดโอกาสให้เช่นนี้แล้ว หากผลการเรียนไม่ดี หรือสอบไม่ผ่าน จึงไม่อาจกล่าวว่าเกิดจากความไม่เสมอภาค เพราะขึ้นอยู่ที่การกระทำของคนนั้น ๆ เอง ไม่ได้เป็นเพราะถูกปิดกั้นการศึกษา เป็นต้นจากตัวอย่างที่ยกมานี้ถือว่ามีการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคเพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตั้งแต่ต้น แต่การจะไปถึงจุดหมายคือเรียนจบในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12ปี หรือสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้หรือไม่นั้นส่วนหนึ่งอยู่ที่พฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆเอง ความเสมอภาคทางการศึกษาจึงต้องไปควบคู่กับความยุติธรรมด้วย คือ ยุติธรรมกับทุกคนทั้งคนที่ทำดี และคนที่ทำไม่ดี ผู้ที่ตั้งใจทำสิ่งที่ดี ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ ส่วนผู้ที่ทำไม่ดีแม้มีโอกาสเอื้อให้เขาสำเร็จ แต่เขาสามารถประสบกับความล้มเหลวได้เช่นกันความเข้าใจในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อนักการศึกษาทุกคน ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการศึกษา คือผู้เรียนทุกคน ทั้งนี้เพื่อทั้งสองฝ่ายคือรัฐที่เป็นฝ่ายจัดการศึกษากับสถานศึกษาจะสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างเสมอภาคตามศักยภาพและความต้องการของผู้เรียน และฝ่ายที่เป็นผู้เรียนซึ่งเป็นผู้รับการศึกษาจะมีความเข้าใจในสิทธิและโอกาสของตนเองในการรับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และต่อเนื่องตลอดชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น